แชร์

5 เรื่องที่ต้องรู้ ก่อนการลดหย่อนภาษี 2567

207 ผู้เข้าชม

        สวัสดีครับ มาพบกับ โค้ซวินอินชัวร์ ในช่วงก่อนสิ้นปี เผลอแป๊บเดียวจะสิ้นปีอีกแล้ว เป็นอย่างไรกันบ้างครับ ท่านที่ตั้งเป้าหมายไว้ตอนต้นปี ที่จะทำอะไรสักอย่างให้ตัวเองดีขึ้น เก่งขึ้น ประสบความสำเร็จมากขึ้น ที่สำคัญมีรายได้เพิ่มขึ้น รวยขึ้น ก็ขอชื่นชมกับท่านที่ทำตามเป้าหมายจนประสบความสำเร็จแล้วนะครับ และ ก็เป็นกำลังใจให้กับท่านที่กำลังมุ่งมั่นไปสู่เป้าหมายกับเวลาที่เหลืออยู่หนึ่งเดือนเต็ม ๆขอให้ประสบความสำเร็จตามความตั้งใจไว้ทุกประการนะครับ สู้ ๆ ยังมีเวลาเหลือ ตราบใดที่ระฆังแห่งเวลายังไม่ดังขึ้นก็แสดงว่าเรายังมีหวังที่จะประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่ได้วางไว้ครับ ไม่ว่าท่านจะสำเร็จตามเป้าหมายมากน้อยขนาดใหนก็แล้วแต่...ที่แน่ ๆ รายรับของท่านก็มีเข้ามาแน่นอน เมื่อมีรายรับก็ต้องมีหน้าที่ต้องเสียภาษี ตามกฎหมายกำหนด โค้ซวินอินชัวร์ ในฉบันนี้ก็เลยจะเอาการ เตรียมตัวก่อนเสียภาษี รายการลดหย่อนภาษี 2567 มีอะไรบ้าง มาฝากกัน  เพื่อจะได้วางแผนการลดหย่อนภาษีที่เหมาะสมและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อตัวท่านเอง เพราะการลดหย่อนภาษีเป็นสิทธิที่กฎหมายไทยมอบให้กับผู้เสียภาษีเพื่อช่วยลดภาระทางการเงิน และยังเป็นวิธีส่งเสริมให้ประชาชนมีพฤติกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม เช่น การออมเงิน การทำประกันชีวิต หรือการบริจาคเพื่อสาธารณประโยชน์เป็นหนึ่งในหน้าที่ของผู้มีรายได้ที่มีความสำคัญและเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศ

        1. ลดหย่อนภาษีคืออะไร?
การลดหย่อนภาษีคือการนำค่าใช้จ่ายที่กฎหมายอนุญาตมาหักออกจากฐานรายได้ก่อนคำนวณภาษี โดยจะช่วยให้เราจ่ายภาษีในอัตราที่น้อยลง
        สำหรับผู้ที่กำลังเตรียมตัวเสียภาษี และกำลังหาแนวทางคำนวณภาษี เพื่อวางแผนการเงินในช่วงที่ต้องจ่ายภาษี บทความนี้ได้รวบรวมเอารายการลดหย่อนภาษี 2567 มาบอกต่อเพื่อให้ผู้เสียภาษีทุกท่านไม่พลาดโอกาสในการใช้สิทธิลดหย่อน เป็นอีกตัวช่วยในการประหยัดค่าใช้จ่ายลงได้ จะมีรายการไหนที่คุณสามารถใช้สิทธิได้ ลองมาดูเป็นลำดับดังต่อไปนี้ครับ
                    1. คำนวณภาษี 2567 ทำอย่างไร?
                    2. รายการลดหย่อนภาษี 2567 มีอะไรบ้าง?
                    3. ยื่นภาษี 2567 ที่ไหนได้บ้าง?
                    4. เตรียมเอกสารยื่นภาษี ต้องใช้อะไรบ้าง?

        2. คำนวณภาษี 2567 ทำอย่างไร?

การเตรียมตัวเสียภาษีนั้น ต้องใช้เวลาในการรวบรวมข้อมูลพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นการเก็บรวบรวมเอกสารรายได้, การใช้สิทธิลดหย่อนภาษี หรือการตรวจสอบเงื่อนไขต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับภาษีประจำปีอย่างถูกต้อง สำหรับผู้มีเงินได้ที่ต้องเตรียมเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ที่ต้องการคำนวณเงินภาษีที่ต้องจ่าย สามารถคำนวณเงินเพื่อวางแผนการเงินไว้ล่วงหน้าได้ โดยคำนวณยอดเงินได้สุทธิ เพื่อคำนวณภาษีต่อ ตามวิธีดังต่อไปนี้

                     ยอดเงินได้สุทธิ  = (รายได้รวม 12 เดือน - ค่าใช้จ่าย) - ค่าลดหย่อนภาษี

             ในปัจจุบันที่มีรายการลดหย่อนภาษีหลายประเภท ที่ออกแบบมาเพื่อช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิต และมีสิทธิลดหย่อนที่ช่วยให้ผู้เสียภาษีได้รับประโยชน์สูงสุด ซึ่งสิทธิลดหย่อนภาษี ถูกแบ่งไว้ดังต่อไปนี้
          - สิทธิลดหย่อนภาษีส่วนตัว และครอบครัว
          - สิทธิลดหย่อนภาษีจากการออม การลงทุน และผลิตภัณฑ์ประกันชีวิต
          - สิทธิลดหย่อนภาษีจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากรัฐ
          - สิทธิลดหย่อนภาษีจากเงินบริจาค
โดยรายละเอียดการใช้สิทธิลดหย่อนของแต่ละประเภทนั้น จะอธิบายเพิ่มเติมต่อไป


        3. รายการลดหย่อนภาษี 2567 มีอะไรบ้าง?
สิทธิลดหย่อนภาษีส่วนตัว และครอบครัว ค่าลดหย่อนภาษีส่วนตัว สำหรับผู้มีเงินได้
สิทธิลดหย่อนส่วนตัวได้ จำนวน 60,000 บาท

ค่าลดหย่อนภาษีคู่สมรส
       ผู้ที่มีคู่สมรสที่จดทะเบียนสมรสอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และคู่สมรส (ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง) เป็นผู้ที่ไม่มีรายได้ สามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้ จำนวน 60,000 บาท โดยฝ่ายที่มีเงินได้จะเป็นผู้ยื่นภาษี แต่ในกรณีที่เป็นผู้มีเงินได้ทั้งคู่ ก็สามารถเลือกยื่นภาษีรวมกัน หรือแยกกันก็ได้

ค่าลดหย่อนสำหรับบุตรตามกฎหมาย และบุตรบุญธรรม
       บุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย คือ บุตรที่ให้กำเนิดตามกฎหมาย ทั้งของตนเอง และของคู่สมรส โดยจะได้รับสิทธิลดหย่อนคนละ 30,000 บาท และในกรณีบุตรคนที่ 2 เป็นต้นไป ที่เกิดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 จะสามารถใช้สิทธิลดหย่อนเพิ่มได้อีกคนละจำนวน 30,000 บาท โดยมีเงื่อนไขว่าบุตรแต่ละคนจะต้องมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท ณ ปีภาษีนั้น ๆ และเป็นบุคคลที่มีอายุไม่ถึง 20 ปี รวมทั้งบุตรที่กำลังศึกษาในระดับปริญญาตรีขึ้นไป, ศึกษาหลักสูตรเนติบัณฑิต ที่อายุไม่เกิน 25 ปี  หรือเป็นผู้ที่ศาลสั่งให้เป็นบุคคลไร้ความสามารถ-เสมือนไร้ความสามารถ ก็นำมาใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้

      บุตรบุญธรรม คือ บุตรที่ไม่ได้ให้กำเนิดตามกฎหมาย หรือเป็นบุตรที่รับอุปการะมาจากบุคคลอื่น แต่ได้รับการจดทะเบียนเป็นบุตรบุญธรรมตามกฎหมาย และเลี้ยงดูเสมือนเป็นบุตรของตนเอง สามารถนำมาใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้จำนวน 30,000 บาท สูงสุดไม่เกิน 3 คน* โดยมีเงื่อนไขว่าบุตรบุญธรรมจะต้องมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท ณ ปีภาษีนั้นๆ

หากต้องการใช้สิทธิลดหย่อนของบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ร่วมกับสิทธิของบุตรบุญธรรม จะต้องใช้สิทธิของบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายก่อน หากครบ 3 คนแล้ว จะไม่สามารถใช้สิทธิได้

ค่าลดหย่อนจากการฝากครรภ์และค่าคลอดบุตร สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีจากการฝากครรภ์และค่าคลอดบุตรได้ ตามจำนวนที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 60,000 บาท/การตั้งครรภ์ (หากเป็นครรภ์แฝด จะนับเป็น 1 ครรภ์) โดยแสดงใบรับรองแพทย์ที่มีข้อมูลการตั้งครรภ์ และใบเสร็จรับเงิน ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ ที่ชำระให้กับทางสถานพยาบาล สามารถใช้สิทธิได้ทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชน

ค่าลดหย่อนอุปการะบิดามารดา ผู้ที่มีบิดา-มารดา อายุ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป สามารถนำมาใช้สิทธิลดหย่อนได้คนละ 30,000 บาท โดยมีเงื่อนไขว่าบิดา-มารดา จะต้องมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท ณ ปีภาษีนั้น ๆ  และสามารถยื่นรวมกับบิดา-มารดา ของคู่สมรสได้อีกด้วย ในกรณีที่ยื่นร่วม และเงื่อนไขเพิ่มเติมสำหรับบิดา-มารดา ที่มีบุตรเป็นผู้มีเงินได้หลายคน บุตรจะสามารถใช้สิทธิลดหย่อนบิดา-มารดาได้เพียงคนเดียวเท่านั้น ไม่สามารถใช้สิทธิซ้ำกันหลายคนได้ ส่วนบุตรบุญธรรม ไม่มีสิทธิหักลดหย่อนในกรณีนี้

ค่าลดหย่อนเบี้ยประกันสุขภาพบิดา-มารดา ได้สิทธิลดหย่อนค่าเบี้ยประกันสุขภาพบิดา-มารดา ของตนเองตามที่จ่ายจริง และยังสามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้ทั้งบิดา-มารดา ของตนเองและคู่สมรส โดยที่เมื่อนำค่าเบี้ยประกันสุขภาพมารวมกันแล้ว จะต้องไม่เกิน 15,000 บาท  มีเงื่อนไขว่าบิดา-มารดา จะต้องมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท ณ ปีภาษีนั้น ๆ ส่วนบุตรบุญธรรม ไม่สามารถใช้สิทธิหักลดหย่อนในกรณีนี้

ค่าลดหย่อนเบี้ยประกันประชีวิตและประกันบำนาญของคู่สมรส ผู้มีเงินได้สามารถนำเบี้ยประกันของคู่สมรสมาใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 10,000 บาท กรณีที่คู่สมรสไม่มีรายได้ ณ ปีภาษีนั้น ๆ

ค่าลดหย่อนสำหรับผู้อุปการะคนพิการ/ทุพพลภาพ สามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้ จำนวน 60,000 บาท ในกรณีที่ผู้มีเงินได้ ทำการอุปการะเลี้ยงดูคนพิการ/ทุพพลภาพ* มาไม่ต่ำกว่า 180 วัน โดยบุคคลนั้น ๆ จะต้องมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท ณ ปีภาษีนั้น ๆ และมีบัตรประจำตัวผู้พิการ และผู้มีเงินได้ มีหนังสือรับรองว่าเป็นผู้อุปการะบุคคลนั้น

ในกรณีที่ผู้พิการ/ทุพพลภาพ มีสถานะเป็นบิดา-มารดา คู่สมรส หรือบุตรของผู้มีเงินได้ จะสามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้ทั้ง 2 ส่วน โดยจะได้รับทุกคน ไม่จำกัดสิทธิ แต่สำหรับผู้ที่มีความสัมพันธ์ในสถานะอื่นนอกเหนือจากที่กล่าวมา จะได้รับสิทธิลดหย่อนเพียง 1 คน เท่านั้น

กองทุนประกันสังคม การใช้สิทธิลดหย่อนจากการจ่ายเงินสมทบกองทุนประกันสังคม สามารถแบ่งตามมาตราได้ดังนี้
        มาตรา 33 - กลุ่มพนักงานที่มีรายได้ประจำ > หักลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 9,000 บาท
        มาตรา 39 - อดีตผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่ยังต้องการคงสถานะ > หักลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 5,184 บาท
        มาตรา 40 - กลุ่มที่ประกอบอาชีพอิสระ > หักลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง มี 3 รูปแบบ คือ  840 บาท, 1,200 บาท และ 3,600 บาท
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund), กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.), กองทุนสงเคราะห์โรงเรียนเอกชน

สำหรับกองทุน กบข. สามารถลดหย่อนได้สูงสุด 30% ของรายได้ ส่วนกองทุนอื่น ๆ สามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้ ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15% ของรายได้ และเมื่อรวมกับรายการการออม-กองทุนอื่น ๆ แล้วต้องมีจำนวนไม่เกิน 500,000 บาท

กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) สำหรับผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระ และได้มีการเข้าร่วมกองทุนการออมแห่งชาติ สามารถหักลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 30,000 บาท  และเมื่อรวมกับรายการการออม-กองทุนอื่น ๆ แล้วต้องมีจำนวนไม่เกิน 500,000 บาท

ลดหย่อนภาษีจากเบี้ยประกันชีวิต, ประกันชีวิตแบบบำนาญ และประกันสุขภาพ
       สำหรับผู้ที่ถือกรมธรรม์ประกัน 3 รูปแบบ นี้ สามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้ดังนี้

           ประกันชีวิต - ลดหย่อนได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท โดยต้องเป็นกรมธรรม์ที่ทำกับบริษัทประกันชีวิตในประเทศไทยเท่านั้น เป็นกรมธรรม์ที่มีกำหนดเวลา 10 ปีขึ้นไป หากมีการจ่ายผลประโยชน์คืนทุกปี ต้องไม่เกินร้อยละ 20 ของค่าเบี้ยประกันชีวิตต่อปี

           ประกันบำนาญ - เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ สามารถนำมาใช้สิทธิลดหย่อนได้ตามจริง สูงสุด 15% ของรายได้ แต่ต้องไม่เกิน 200,000 บาท และเมื่อรวมกับรายการการออม-กองทุนอื่น ๆ แล้วต้องมีจำนวนไม่เกิน 500,000 บาท โดยต้องเป็นกรมธรรม์ที่ทำกับบริษัทประกันชีวิตในประเทศไทยเท่านั้น เป็นกรมธรรม์ที่มีกำหนดเวลา 10 ปีขึ้นไป

           ประกันสุขภาพ - สามารถใช้เบี้ยประกันสุขภาพลดหย่อนภาษีได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 25,000 บาท เมื่อรวมกับเบี้ยประกันชีวิตและประกันสะสมทรัพย์แล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท

หน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)
        สำหรับผู้ที่ซื้อหน่วยลงทุนกับกองทุน RMF สามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้ ไม่เกิน 30% ของรายได้ และเมื่อรวมกับเบี้ยประกันชีวิตและประกันสะสมทรัพย์แล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท

สิทธิลดหย่อนภาษีจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากรัฐ ค่าลดหย่อนจากดอกเบี้ยสินเชื่อเพื่อการเช่าซื้อ หรือสร้างอาคารที่อยู่อาศัย
        ผู้มีเงินได้ ที่ทำการกู้ยืมสินเชื่อบ้าน เพื่อการเช่าซื้อ หรือสร้างอาคารที่อยู่อาศัย สามารถนำมาใช้สิทธิลดหย่อนได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท โดยต้องมีหนังสือรับรองตามที่กำหนด

ค่าลดหย่อนจากการใช้จ่ายในโครงการ e-Receipt
        ผู้ที่ซื้อสินค้าที่เข้าร่วมโครงการ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 - 15 กุมภาพันธ์ 2567 สามารถนำใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt) มาใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) แล้วสูงสุดไม่เกินจำนวน 50,000 บาท โดยมีเงื่อนไขคือจะต้องมีหลักฐานการซื้อสินค้าเป็นใบกำกับภาษี หรือ e-Receipt ตามระบบของสรรพากรเท่านั้น จึงจะสามารถยื่นขอลดหย่อนส่วนนี้ได้

โครงการเที่ยวเมืองรอง
        เป็นมาตรการลดหย่อนภาษีในปี 2567 โดยผู้ที่เข้าร่วมโครงการเที่ยวเมืองรอง 55 จังหวัด ตามที่กำหนด สามารถใช้สิทธิลดหย่อนด้วยการนำค่าที่พักตามที่จ่ายจริง มาใช้สิทธิลดหย่อนภาษี ไม่เกิน 15,000 บาท โดยต้องมีหลักฐานการชำระเงินเป็นใบกำกับภาษี หรือ e-Receipt หรือ e-Tax Invoice มาแสดงเพื่อใช้สิทธิ

สิทธิลดหย่อนภาษีจากเงินบริจาค

        เงินบริจาคเพื่อประโยชน์สาธารณะ การบริจาคเงินเพื่อประโยชน์สาธารณะ เช่น สถานศึกษาของรัฐ-เอกชน, การกีฬา, สถานพยาบาลของรัฐ รวมทั้งเงินบริจาคเพื่อลดหย่อนภาษี ในระบบ e-Donation สามารถนำมาใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้เป็นจำนวน 2 เท่า ของจำนวนเงินตามที่บริจาค แต่จะไม่เกิน 10% ของรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนต่าง ๆ
        เงินบริจาคทั่วไป การบริจาคเงินเพื่อช่วยเหลือส่วนรวมโดยทั่วไป สามารถนำมาใช้สิทธิลดหย่อนได้ตามจำนวนเงินจริงที่บริจาค แต่จะไม่เกิน 10% ของรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนต่าง ๆ
        เงินบริจาคพรรคการเมือง เงินที่บริจาคเพื่อสมทบช่วยเหลือพรรคการเมือง สามารถนำมาใช้สิทธิลดหย่อนได้ตามจำนวนเงินที่บริจาคไป แต่ไม่เกิน 10,000 บาท โดยจะต้องแสดงหลักฐานการบริจาคเงินที่สามารถตรวจสอบได้


        4. ยื่นภาษี 2567 ที่ไหนได้บ้าง?

         สามารถยื่นภาษีตามช่วงเวลาที่กำหนด พร้อมใช้สิทธิลดหย่อนภาษี ได้ตามช่องทางต่อไปนี้

                    - สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา รวมทั้งสาขาย่อยในห้างสรรพสินค้า, สรรพากรเขต-อำเภอ

                    - ยื่นภาษีออนไลน์ผ่านเว็บไซต์กรมสรรพากร https://efiling.rd.go.th

        5. เตรียมเอกสารยื่นภาษี ต้องใช้อะไรบ้าง?

                    - ใบทวิ 50 สำหรับผู้มีเงินได้

                    - ใบเสร็จรับเงินในการซื้อหน่วยลงทุนกับทุน, ประกันชีวิต, ประกันสะสมทรัพย์, ประกันบำนาญ หรือประกันสุขภาพ

                    - หลักฐานการมอบเงินบริจาคเพื่อลดหย่อนภาษี

                    - หนังสือรับรองดอกเบี้ยกู้ยืมจากธนาคาร

                    - ใบกำกับภาษีจากร้านค้า

การใช้ สิทธิลดหย่อนภาษี เป็นการวางแผนทางการเงินที่ชาญฉลาดและช่วยให้ผู้เสียภาษีสามารถบริหารจัดการรายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งการเตรียมตัวจากรายการลดหย่อนภาษี 2567 ก่อนถึงช่วงเสียภาษีนั้นไม่เพียงแต่ช่วยลดภาระภาษีที่ต้องชำระ แต่ยังเป็นการสร้างสภาพคล่องทางการเงินให้กับตัวผู้มีเงินได้เองด้วย
             ดังนั้น สำหรับผู้ที่ต้องเสียภาษีเงินได้แล้วนั้น การทำความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิลดหย่อนและการเตรียมเอกสารที่ถูกต้องจึงเป็นสิ่งที่ผู้เสียภาษีทุกคนควรใส่ใจ เพื่อให้สามารถใช้สิทธิได้เต็มที่และได้รับประโยชน์สูงสุด ทั้งนี้การปฏิบัติตามขั้นตอนอย่างครบถ้วนและถูกต้องยังช่วยให้การจ่ายภาษีเป็นไปอย่างราบรื่นจะได้รีบยื่นและได้เงินคืนมาใช้ก่อนใคร ๆ เขานะครับ...

คำถามที่ 1. ท่านคิดว่าประกันคุ้มครองวงเงินสินเชื่อของสหกรณ์เรานำไปลดหย่อยภาษี ได้หรือไม่ ?

คำตอบคือ....ได้ แต่เบี้ยประกันนั้นต้องมีความคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไปเท่านั้น อันนี้สำคัญมากต้องแจ้งต่อลูกค้าของเราทุกครั้งนะครับ

คำถามที่ 2. แล้วเบี้ยประกันลดหย่อนภาษีได้เท่าไหร..?

คำตอบคือ ตามจำนวนเงินเบี้ยประกันที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 100,000. บาท เมื่อร่วมกับเบี้ยประกันแบบอื่น ๆ ที่ไม่ใช่แบบบำนาญ

.......ท่านที่ตอบถูกโค้ซวินก็ขอมอบ รางวัลขยันรู้ ไว้เพื่อเป็นเกียรติประวัติให้นะครับ....ฮ่า....

สรุป โค้ซวินอินชัวร์ ฉบับนี้ดูจะยาวไปสักนิดแต่เชื่อมั่นว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนภาษีปี 2567 ได้อย่างครอบคลุมแน่นอน ก็ขอฝากไว้นะครับ การทำประกันชีวิตที่เหมาะสมกับความจำเป็นในแต่ละช่วงของชีวิต และ สอดคล้องกับรายได้ เป็นสิ่งที่จำเป็นและดีต่อครอบครัวและคนที่เรารัก เท่านั้นยังไม่พอ เบี้ยประกันก็ยังสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย ไม่เพียงช่วยให้เราประหยัดค่าใช้จ่าย แต่ยังเป็นเครื่องมือที่ช่วยส่งเสริมการออมและการลงทุนในระยะยาวด้วยนะครับ

"การวางแผนภาษีที่ดีคือก้าวแรกของการสร้างความมั่งคั่งในอนาคต"

หากคุณมีข้อสงสัย สามารถตรวจสอบเพิ่มเติมจากเว็บไซต์ของ กรมสรรพากร https://www.rd.go.th/272.html หรือปรึกษาที่ปรึกษาด้านภาษี เพิ่มเติมได้เลยนะครับ สำหรับฉบับหน้าจะมีอะไรมาฝาก อย่าลืมมาติดตาม โค้ซวินอินชัวร์ สวัสดีครับ

ข้อมูลจาก : กรมสรรพากร สืบค้นเมื่อ วันที่ 26 /11/2567


บทความที่เกี่ยวข้อง
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ (Cookies Policy)
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy